ประเภทของท่อลมแอร์
1.Supply Air Duct (ท่อจ่ายลมเย็น)
ท่อจ่ายลมเย็น หรือ Supply Air Duct เป็นท่อที่นำพาอากาศเย็นจากคอยล์เย็นไปจ่ายตามส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นห้องนอนในบ้านอยู่อาศัย โถงต้อนรับภายในโรงแรม หรือห้องประชุมในสำนักงานต่าง ๆ เพื่อลดอุณหภูมิบริเวณนั้น ๆ ให้เย็นลง ส่วนใหญ่ทำจากแผ่นเหล็กอาบสังกะสีพับขึ้นรูป และหุ้มด้วยฉนวนใยแก้วอีกชั้นหนึ่ง
2.Return Air Duct (ท่อดึงลมกลับ)
ท่อดึงลมกลับ หรือ Return Air Duct มีลักษณะภายนอกเหมือนกับท่อจ่ายลมเย็นทุกประการ แตกต่างเพียงหน้าที่ ซึ่งจะดูดอากาศที่จ่ายออกไปด้วยท่อจ่ายลมเย็นซึ่งแลกเปลี่ยนความร้อนกับอากาศ และมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นให้กลับมาที่คอยล์เย็น เพื่อมาแลกเปลี่ยนความร้อนที่ผิวท่อของคอยล์เย็น และอุณหภูมิให้ลดลงเพื่อส่งไปจ่ายในห้องด้วยท่อจ่ายลมเย็นอีกครั้ง
3.Exhaust Air Duct (ท่อระบายอากาศ)
ท่อระบายอากาศ หรือ Exhaust Air Duct ทำหน้าที่ระบายอากาศภายในอาคารออกมาปล่อยทิ้งยังนอกอาคาร ซึ่งอาจดูดอากาศมาจากห้องน้ำ หรือห้องอื่น ๆ ที่ต้องการระบายอากาศภายในนั้น โดยท่อระบายอากาศมักไม่หุ้มฉนวนรอบ ๆ ท่อ
4.Fresh Air Duct (ท่อลมเติมอากาศ)
ท่อลมเติมอากาศ หรือ Fresh Air Duct ทำหน้าที่เติมอากาศให้กับห้องนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม โดยเมื่อมีการระบายอากาศออกไปนอกอาคาร ก็จำเป็นจะต้องมีการเติมอากาศกลับเข้าไปเพื่อให้เป็นการระบายอากาศที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ควรติดตั้งช่องดูดอากาศอยู่ใกล้กับช่องระบายอากาศ เพราะอาจดูดอากาศเสียที่พึ่งปล่อยออกนอกอาคารกลับเข้ามาอีก ท่อเติมอากาศมักจะไม่มีการหุ้มฉนวน และเมื่อติดตั้งนอกอาคารก็มักจะทาสีให้เข้ากันกับตัวอาคารอีกด้วย
ความจำเป็นของระบบระบายอากาศภายในอาคาร
- ในสภาวะของห้องทำงาน สถานประกอบการ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีภาวะปิด ระบบระบายอากาศสามารถควบคุมระดับของสิ่งปนเปื้อนในอากาศ ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้
- ระบบระบายอากาศสามารถควบคุมความร้อน และความชื้นให้อยู่ในระดับที่ส่งเสริมการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ให้รู้สึกสบาย ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดี และในทางตรงกันข้าม หากผู้ปฏิบัติหน้าที่รู้สึกไม่สบายอันเกิดจากความร้อนและความชื้น จะทำให้หงุดหงิด เสียสมาธิ อึดอัด และในที่สุดก็จะมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ อันนำไปสู่ผลผลิตที่ตกต่ำ หรืออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ระบบระบายอากาศจะป้องกันไม่ให้เกิดอัคคีภัยและการระเบิด เพราะในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท จะมีการใช้สารเคมีที่เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิต ซึ่งหากมีไอสารของตัวทำละลายฟุ้งกระจายในปริมาณที่เข้มข้น โดยไม่มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม หากเมื่อใดเกิดมีความร้อนหรือประกายไฟในบริเวณนั้น ก็จะทำให้เกิดการติดไฟลุกไหม้ได้
- ระบบระบายอากาศที่ดีจะช่วยประหยัดทรัพยากร ตัวอย่างเช่น ระบบดักเก็บวัสดุที่ฟุ้งกระจายในสถานประกอบการ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะนำสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์ได้อีก รวมถึงลดปัญหาต้นทุนการกำจัด จัดการความสกปรก ไม่เป็นระเบียบของการฟุ้งกระจายของวัสดุ และนอกจากนี้จะช่วยให้สถานประกอบการนั้นมีสุขอนามัยที่ดีไม่ก่อให้เกิดโรคจากมลภาวะทางอากาศ
อ้างอิง https://udwassadu.com/how-to-install-air-duct-ventilation-system/